มหานครการบินภาคตะวันออก มูลค่า สองแสนเก้าหมื่นล้าน หัวใจ EEC ออกแบบผังหลักสนามบินแล้วเสร็จ พร้อมเดินหน้าต่อเนื่อง ขนานคู่รถไฟเร็วสูง ทันปี 2566
สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา เป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์สำคัญทางเศรษฐกิจของไทย ที่ รัฐบาล เร่งพัฒนาให้เป็นสนามบินนานาชาติรองรับการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมการบินของประเทศ และเพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่ ภายในพื้นที่ EEC ให้เป็นเมืองการบินภาคตะวันออก(Aviation Hub)ในระดับภูมิภาค นั่นหมายถึง จะเป็นทั้งสนามบินพาณิชย์แห่งที่3ของไทย ศูนย์ธุรกิจการค้าทางอากาศ ศูนย์ซ่อมเครื่องบิน และศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินจากต่างประเทศ มารวมกันไว้ที่นี่ ด้วยงบประมาณ สองแสนเก้าหมื่นล้านบาท ซึ่งความคืบหน้าของโครงการนั้น หลังจากเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 ได้มีการเปิดรับซองยื่นข้อเสนอโครงการไปแล้ว ในขณะที่ รัฐบาล โดยกองทัพเรือ ได้ว่าจ้าง บริษัทที่ปรึกษา เขียนพิมพ์เขียวรันเวย์ แล้วเช่นกัน
พลเรือโท ลือชัย ศรีเอี่ยมกูล ผู้อำนวยการท่าอากาศยานอู่ตะเภา กล่าวถึงความคืบหน้าในโครงการฯ ว่า เมืองการบินภาคตะวันออก มีโครงการสำคัญ ที่รัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการเองหลายโครงการ เดินหน้าไปแล้ว เช่น การสร้างรันเวย์ การสร้างศูนย์ซ่อมอากาศยาน การสร้างศูนย์สาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยมี กองทัพเรือได้ร่วมมือกับสำนักงานเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ทำล่วงหน้า นั่นหมายความว่ากองทัพเรือได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาออกแบบแผนแม่บทสนามบินให้แล้ว อยู่ในขั้นตอนการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเขียนพิมพ์เขียวของสนามบิน เขียนพิมพ์เขียวของศูนย์ซ่อมอากาศยานและโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆซึ่งทั้งหมดต้องทำขนานกัน เพื่อให้เสร็จทัน
ส่วนที่เราต้องรอคือการดำเนินการของภาคเอกชนที่จะมาร่วมทุน ซึ่ง concept ของรัฐบาลก็คือ การเชิญชวนให้ภาคเอกชน มาร่วมทุนประกอบกิจการในสิ่งที่ภาครัฐไม่ได้ทำ ได้แก่การสร้างเทอร์มินอลหลังใหม่การสร้างคลังสินค้าและคาร์โก้เทอมินอลฯลฯ ซึ่งเอกชนที่ชนะการประมูล จะได้เป็นผู้บริหารทั้งหมด และเมื่อปลายปีที่แล้ว กองทัพเรือได้เชิญชวนเอกชนที่สนใจร่วมทุน ยื่นข้อเสนอเข้ามา ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการคัดเลือกผู้ประกอบการ โดยเมื่อตอนที่ประกาศก็มีผู้ประกอบการเข้ามาซื้อซองทั้งสิ้น 42 ราย จับขั้วกันมา3กลุ่ม ขณะนี้กำลังอยู่ในกระบวนการคัดเลือก ซึ่งโครงการเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่า สองแสนเก้าหมื่นล้าน จะเสร็จพร้อม โครงการ รถไฟความเร็วสูง มูลค่า สองแสนสองหมื่นล้าน ในปี 2566 ตามแผงานที่รัฐบาลวางไว้ พลเรือโท ลือชัย กล่าว
โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก (Eastern Airport City) ในพื้นที่ 6,500ไร่เป็นโครงการที่เปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน เพื่อพัฒนาสนามบินและกิจกรรมต่อเนื่องต่าง ๆ โดยปัจจุบันท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา มีทางวิ่ง 1 ทางวิ่ง ขนาดมาตรฐานยาว3,500 เมตร กว้าง 60 เมตร อาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 รองรับผู้โดยสารทั้งในและระหว่างประเทศประมาณ 700,000 คนต่อปี และหลังจากอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 เปิดให้บริการจะมีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 3 ล้านคนต่อปี
แผนการพัฒนาพื้นที่ในระยะเร่งด่วน ประกอบด้วยพื้นที่ให้บริการให้ปัจจุบัน (Brownfield) ที่ภาครัฐจะมีการลงทุนก่อสร้างเพิ่มเติม ทางวิ่งที่ 2 (Runway 2) ศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรการบิน ระบบสาธารณูปโภคเพื่อรองรับการขยาย ตัวของสนามบิน และเปิดพื้นที่ให้บริการใหม่ (Greenfield) ซึ่งภาครัฐจะมีการลงทุนก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) ระยะที่ 1 และ ศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรการบิน ระยะที่1 ร่วมกับสถาบันการบินพลเรือน